ชี่กับพลังชีวิต ตอนที่ 3


เขียนและเรียบเรียงโดย ครูแม่ส้ม (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)

ชี่ไม่ใช่แค่ลม


คำว่า“ชี่”แม้จะแปลว่า“ลม”   แต่ก็ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่”ลม”หรือ”อากาศ”เท่านั้น    ”ชี่”มีความหมายกว้าง  ซึ่งครอบคลุมทุก ๆ พื้นที่ของชีวิตและจักรวาลเลยทีเดียว


“วัตถุและสิ่งไม่มีชีวิตมีชี่หรือไม่”  การแพทย์จีนโบราณตอบว่า “มี”  ชี่ของวัตถุมีลักษณะแตกต่างกับชี่ของสิ่งมีชีวิตตรงที่  ชี่ของวัตถุมีความหนัก ขุ่นมัว และมีพลังการขับเคลื่อนเลื่อนไหลต่ำ  ส่วนชี่ของสิ่งมีชีวิต มีคุณสมบัติเบา สว่าง โปร่ง และมีพลังการขับเคลื่อนไหลเวียนมากกว่า
   
เทียบเคียงกับทางวิทยาศาสตร์   ชี่คือพลังของที่ว่างระหว่างอนุภาค  เป็นพลังที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา  การไหลเลื่อนเคลื่อนที่ของชี่   นอกจากจะไหลเวียนระหว่างอนุภาคภายในสสารนั้นเองแล้ว  ยังไหลเลื่อนแลกเปลี่ยนกับชี่ของสสารอื่นอีกด้วย   แต่เนื่องจากพลังชี่ของวัตถุมีความหนัก   การแลกเปลี่ยนชี่ระหว่างวัตถุต่อวัตถุจึงน้อยกว่าระหว่างสิ่งมีชีวิตกับวัตถุ  และสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตด้วยกัน   ตัวอย่างเช่น   เก้าอี้ตัวที่ตั้งโชว์อยู่ในร้านเฟอร์นิเจอร์เฉย ๆ  ย่อมมีชี่น้อยกว่าเก้าอี้ตัวที่ถูกใช้งานแล้ว    บ้านร้างย่อมมีพลังชี่หนักและขุ่นมัวกว่าบ้านที่มีคนอยู่อาศัย   และบ้านที่สมาชิกในบ้านมีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ย่อมจะมีพลังชี่ที่โปร่งเบาสว่างและไหลเลื่อนได้คล่องกว่าบ้านที่สมาชิกในบ้านเจ็บป่วยและเครียด    ด้วยตรรกะของการแลกเปลี่ยนถ่ายเทชี่เช่นนี้ เครื่องรางของขลังหรือน้ำมนต์จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  หากได้รับการส่งผ่านชี่จากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีชี่แข็งแรงทรงพลังเพียงพอ   


"
ชี่"มีทั้งบวกและลบ
 

ชี่คือพลังชีวิต หรือจะเรียกให้ครอบคลุมก็พูดได้ว่า ชี่คือพลังจักรวาล  สิ่งมีชีวิตยังชีพอยู่ได้เพราะพลังขับเคลื่อนและไหลเวียนของชี่   ทั้งที่ไหลเวียนภายในตัวเอง และไหลเวียนแลกเปลี่ยนกับชี่ภายนอก  อันประกอบด้วย ชี่จากพลังงานธรรมชาติ  และชี่จากสิ่งมีชีวิตอื่น ทั้งที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน  สัตว์ต่าง ๆ  และพืช     

แม้จะพูดว่าชี่เป็นพลังที่สำคัญต่อชีวิต  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชี่ที่ไหลเวียนอยู่รอบตัวเราเป็นชี่ที่เข้ากับเราได้เสมอไปหรือเป็นชี่ที่มีคุณประโยชน์ทั้งหมด    พลังชี่มีลักษณะทั้งที่เป็นบวกและลบต่อกันและกัน   หากจะพูดให้เหมาะสมและยุติธรรม  เราคงไม่พูดว่าโลกนี้มีชี่ดีและชี่เลว  แต่ควรพูดว่ารอบตัวเรามีชี่ที่เข้ากับเราได้ และชี่ที่เข้ากับเราไม่ได้จะดีกว่า 

หากแบ่งชีวิตของเราออกเป็น  3 ภาคตามศาสตร์ชี่กง ได้แก่  ภาคร่างกาย  ภาคอารมณ์จิตใจ  และภาคจิตวิญญาณ   ชี่ที่เข้ากับเราไม่ได้ทางกาย  คือชี่ที่เราเรียกว่าเชื้อโรคและมลภาวะต่าง ๆ    ชี่ที่เข้ากับเราไม่ได้ทางจิตใจ   คือชี่อารมณ์ด้านลบทั้งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง  และที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก   ส่วนชี่ที่เข้ากับเราไม่ได้ทางจิตวิญญาณ หรือชี่ที่สกัดกั้นการเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณ  ก็คือพลังความคิดด้านลบและความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฐิ

ผลกระทบที่เลี่ยงไม่ได้
 

ชี่ของชีวิตทั้ง 3 ภาค  ร่างกาย  จิตใจ และจิตวิญญาณ  มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกันและกันตลอดเวลา  ส่วนหนึ่งถูกกระทบ  อีกส่วนก็แสดงผล  เมื่อกายถูกกระทบ  ไม่ใช่เพียงร่างกายเท่านั้นที่แสดงผล  แต่จิตใจและจิตวิญญาณก็ถูกกระทบและแสดงผลให้ประจักษ์ด้วย   

ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น  ถ้าเราดื่มน้ำสะอาดไม่เพียงพอ   หรือนั่งทำงานนานเกินไป (ลำตัวส่วนล่างไม่ได้เคลื่อนไหว)  พฤติกรรมเล็กน้อยในชีวิตประจำวันที่ดูไม่น่าจะสำคัญอะไรมากเลยเช่นนี้   ก็สามารถก่อให้เกิดผลต่อไตได้   เพราะการดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น   เมื่อไตทำงานหนัก ชี่ที่ไตก็ลดจำนวนลง  เมื่อชี่ไตพร่อง  ไตจะไปดึงชี่จากอวัยวะอื่นที่ใกล้เคียง  ทำให้ชี่ของอวัยวะอื่นลดลงไปด้วยอย่างเป็นลูกโซ่  


และการนั่งในท่าเดิมนานเกินไป  กล้ามเนื้อและอวัยวะบริเวณท้องน้อยไม่ถูกเคลื่อนไหว  ทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดไม่คล่อง   เมื่อชี่ไตไหลเวียนไม่สะดวก  จะเกิดภาวะชี่ติดขัด   ชี่ใหม่ไม่ถูกส่งไปชำระชี่เก่า  ไตจะอ่อนแอ  เมื่อไตอ่อนแอ กระบวนการสร้างสารจำเป็น (คนจีนเรียกว่าจิง : 精)ก็บกพร่อง  สารจำเป็นหรือ”จิง”นี้ เทียบได้กับฮอร์โมน  เป็นสารสร้างไขกระดูกเพื่อไปหล่อเลี้ยงซ่อมเสริมกระดูก  เมื่อไตผลิตสารจำเป็นหรือ”จิง”ได้น้อย  จึงส่งผลให้กระดูกและฟันไม่แข็งแรง  ในผู้สูงอายุกระดูกจะเปราะบางหักง่าย  ฟันโยกหลุดร่วงเร็ว  


และเนื่องจากเส้นชี่ของไตเชื่อมกับประสาทหู  ถ้าชี่ไตพร่อง  อวัยวะในช่องหูจะอ่อนแอตามไปด้วย  ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวตามมา   


นอกจากนี้ไตยังมีปฏิสัมพันธ์กับอารมณ์กลัว  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ ๒ ทาง  ทางหนึ่งเริ่มจากร่างกายไปสู่จิตใจ  เมื่อชี่ไตพร่อง  จะส่งผลให้อารมณ์ไม่มั่นคง  เกิดความวิตกหวาดกลัวง่าย บางครั้งวิตกหวาดกลัวแม้ในเรื่องเล็ก ๆ หรือกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง  


ในทางกลับกัน  เริ่มจากจิตใจส่งผลสู่ร่างกาย  เมื่อมีเรื่องกระทบอารมณ์ให้เกิดความวิตกหวาดกลัวขึ้นมา  ชี่ไตจะถูกผลาญอย่างรวดเร็ว  ทำให้เกิดภาวะชี่ไตพร่อง  เมื่อไตอ่อนแอ ร่างกายส่วนอื่นก็ถูกกระทบไปเป็นลูกโซ่ด้วย  


ศาสตร์ชี่กงโบราณของจีนถือว่าไตสัมพันธ์กับจุดมิ่งเหมิน  จุดมิ่งเหมินนี้ตั้งอยู่ระหว่างไตทั้ง ๒ ข้าง  คำว่า“มิ่งเหมิน” แปลว่า “ประตูแห่งชีวิต”  เป็นจุดศูนย์รวมของชี่อิน(หยิน)และชี่หยาง  ควบคุมการทำงานของอวัยวะหลายส่วน เช่น หัวใจ ไต ม้าม กระเพราะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น 


ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า  แม้เพียงพฤติกรรมเล็ก ๆ ซึ่งผิดเพี้ยนไปจากความเป็นปกติตามธรรมชาติ  เช่นดื่มน้ำน้อยเพราะไม่มีเวลา  เพราะลืม  หรือเพราะไม่อยากเข้าห้องน้ำบ่อย   นั่งทำงานนานเพราะต้องการให้ได้งานมาก ๆ หรือนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เพลินจนลืมเวลา   พฤติกรรมประเภทนี้มักเกิดขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน  โดยเฉพาะคนทำงานสมัยใหม่   ความเคยชินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถูกละเลยเหล่านี้   สามารถส่งผลกระทบต่อประตูชีวิต(มิ่งเหมิน)ทั้งชีวิตได้เหมือนกัน


แต่ใช่ว่าคนสองคนซึ่งดื่มน้ำน้อยหรือนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ จะได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน    ดังที่เราต่างรู้กันอยู่แล้วว่า ความแข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยหลักในการต้านทานโรค   แต่ก็นั่นละ  บ่อยครั้งที่คนซึ่งมีร่างกายแข็งแรงแต่เคร่งเครียด  กลับเจ็บป่วยหรือติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าคนที่ดูบอบบางแต่ยิ้มแย้มแจ่มใส   คนที่ใส่ใจเรื่องโภชนาการอย่างเคร่งครัดแต่ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการหายใจ  ก็อาจจะอ่อนแอกว่าชาวชนบทที่ไม่มีความรู้เรื่องโภชนาการแต่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย
 

สุขภาพดีต้องมี "5 ประสาน"
 

ในตำราชี่กงจีนโบราณได้กล่าวถึงกระบวนการพื้นฐาน 5 ประการ  ในการเข้าถึงความมีสุขภาพดีอย่างเป็นองค์รวม เรียกว่า  “ 5 ประสาน”  ตามแนวปรัชญาจีนโบราณ 5 ประสานนี้หมายถึงการที่ส่วนประกอบของชีวิตทั้ง 5 ส่วนสามารถประสานสอดคล้องกันและกันได้อย่างสมบูรณ์

มีอะไรบ้างที่ต้องประสานให้เข้ากันอย่างสมบูรณ์   5 ประการ
1. ร่างกาย

2. ลมหายใจ   
3. จิตอารมณ์
4. พลังชีวิต(ชี่)     
5. จิตวิญญาณ   

เจรจากับสหายทั้ง 5


ในความหมายของการปรัชญาจีนโบราณเกี่ยวกับสุขภาพองค์รวมจะเน้นที่การ"สื่อสาร"กับองค์ประกอบชีวิตทั้ง 5 ส่วนนี้ให้เข้าใจ จึงมีคำกล่าวว่า
“จงเจรจากับร่างกาย 
พูดคุยกับลมหายใจ 
สนทนากับจิต  
ฟังเสียงของชี่ 
และสื่อสารกับจิตวิญญาณ 
ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง   
จนสหายทั้ง 5 สามารถเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง”
  
ผู้ฝึกชี่กงและไท่จี๋ย่อมเข้าใจประเด็นนี้ดี   การจะสื่อสารกับสหายทั้ง 5  ดังว่านี้ได้  ต้องอาศัยการรับรู้ที่ว่องไว  ตื่นตัวแต่ผ่อนคลาย    แต่จะมีการรับรู้ที่ว่องไว ตื่นตัวแต่ผ่อนคลายได้  ต้องอาศัยสติและสมาธิ  อันเป็นเครื่องมือสื่อสารภายในที่สำคัญที่สุด   


ดังนั้นการฝึกชี่กงและมวยจีน(ไท่จี๋)จึงเน้นการดำรงสติและสมาธิไว้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรับรู้และสื่อสารกับร่างกาย กับลมหายใจ กับอารมณ์ความรู้สึก กับการเคลื่อนไหวของชี่ และในระดับสูงกับสภาวะทางปัญญา(ซึ่งไม่ใช่ความคิด)


ความเป็นองค์รวมในทัศนะทางชี่กงนี้  สามารถตอบคำถามที่ว่า เหตุใดคนแต่ละคนจึงมีความต้านทานต่อโรคทางกาย โรคทางอารมณ์  โรคทางสังคม และโรคทางปัญญาในระดับที่แตกต่างกัน และแม้แต่ความเจ็บป่วยในตัวเราเอง  บางครั้งก็ไม่สามารถโทษเชื้อโรคจากภายนอกหรือพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปได้  เช่น เรามักโทษว่าคนนั้นคนนี้นำเชื้อหวัดมาแพร่ใส่เรา  เราจึงเป็นหวัด  หรือเพราะไปเดินตากฝน เราจึงเป็นไข้  หรือเพราะกินส้มตำจานนั้นแน่เทียว ท้องเราจึงเสีย  การวิเคราะห์เช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการโยนความผิดไปให้ผู้อื่น  

การโทษเหตุจากภายนอกอย่างเดียว จะไม่มีทางเยียวยารักษาหรือทำให้สุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืนขึ้นมาได้  หากไม่พิจารณาถึงความโกรธ  ความเศร้า ความกลัว และแม้แต่ความสนุกสุดเหวี่ยงในจิตใจของเรา   ไม่สังเกตดูวิธีหายใจของตัวเอง  หายใจลึกเพียงพอไหม หรือชอบกลั้นหายใจ  หายใจสั้น หายใจถี่รัว   หรือขี้เกียจหายใจบ่อย ๆ หรือเปล่า   ไปจนถึงการรู้เท่าทันต่อความเชื่อและความศรัทธาหรือสิ่งยึดเหนี่ยวต่างๆว่าได้นำความสงบและสันติสุขมาสู่ตัวเราจริงหรือเปล่า หรือกลับนำความเกลียดชัง การแบ่งแยก และความรุนแรงมาสู่จิตใจของเรา

การพิจารณาเพื่อให้รู้เท่าทันความเป็นไปของสหายทั้ง 5 นี้  เรียกว่า “กังฟูแห่งการเฝ้าสังเกตภายใน” 
  

.....................

ติดตามอ่านตอนที่ 4 

ชี่กับพลังชีวิต ตอนที่ 2



ชี่กับชีวิต ตอนที่  2
เขียนโดย : ครูแม่ส้ม (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)

ลมเลือด : เลือดลม

ตำราการแพทย์จีนแผนโบราณระบุว่า“ชี่”กับ“เลือด”มีความสัมพันธ์กัน บริเวณไหนที่ชี่ไหลไปถึง เลือดก็จะไหลไปถึงด้วยเสมอ บริเวณไหนที่ชี่ไหลเวียนสะดวก เลือดก็จะไหลเวียนสะดวกด้วยเช่นกัน จึงมีคำเรียกกันติดปากในภาษาจีนว่า“ลมเลือด” หรือ 气血 (ชี่เซ่ว) ซึ่งคนไทยคุ้นที่จะเรียกว่า“เลือดลม”มากกว่า


“ลม”ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่อากาศหรือก๊าซที่เป็นส่วนหนึ่งของเม็ดเลือดเท่านั้น แต่หมายถึงลมในฐานะที่เป็น“ชี่”หรือ“พลังชีวิต”ด้วย ดังที่เราจะได้ยินเวลาผู้ใหญ่(รุ่นเก่า)มีอาการไม่สบายเนื้อสบายตัวขึ้นมา มักจะเปรยว่า “หมู่นี้เลือดลมไม่ค่อยดีเลย” ซึ่งหมายความว่าการไหลเวียนของชี่และระบบไหลเวียนโลหิตภายในร่างกายชักจะติดขัดแล้ว เป็นผลให้อวัยวะภายใน เช่น ไต ตับ หัวใจ ม้าม ปอด กระเพาะ ลำไส้ และระบบการทำงานส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ระบบการหายใจ ระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบขับถ่าย ไปถึงระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ก็พลอยบกพร่องไปด้วย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วย และติดเชื้อโรคได้ง่าย เมื่อร่างกายอ่อนแอ จิตใจก็จะอ่อนแอตาม ความคิดก็ติดขัดไปด้วยเช่นกัน พูดรวม ๆ ก็คือ พลังชีวิตในช่วงนั้นอ่อนนั่นเอง

คุณภาพของพลังชีวิตได้มาจากไหน

“คุณภาพของพลังชีวิต” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “คุณภาพของชี่” ได้มาจากคุณภาพของอากาศและนิสัย(วิธี)การหายใจของเรา คุณภาพของอาหารที่เรากินเข้าไป ท่าทางหรือวิธีเคลื่อนไหวร่างกายของเรา อุปนิสัยใจคอหรืออารมณ์ที่เราแสดงออก ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตทั้งหมด ล้วนเกี่ยวข้องกับคุณภาพของชี่ทั้งสิ้น

ถ้าจะเปรียบอย่างหยาบ ๆ ว่าร่างกายเป็นเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง อาหารและอากาศ ก็เปรียบได้กับน้ำมันหรือเชื้อเพลิง วิถีการดำเนินชีวิต เปรียบได้กับกระบวนการเดินเครื่องจักร ส่วนบุคลิกนิสัย ก็เปรียบเหมือนวิธีบริหารจัดการเครื่องจักรให้ทำงาน หากบริหารดีเครื่องจักรก็ทำงานดี หากระบบบริหารจัดการไม่ดี ผลผลิตก็คงจะดีได้ยาก


แต่ในระดับละเอียด ร่างกายเป็นมากกว่าเครื่องจักรเครื่องยนต์ มนุษย์มีอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อน ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบชี่อย่างมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อเราถูกหยิก ชี่ในบริเวณผิวที่ถูกหยิกจะถูกรบกวน ชี่ที่ถูกรบกวนจะส่งข้อมูลไปกับระบบประสาท ทำให้เกิดการรับรู้ความเจ็บ เมื่อรู้สึกเจ็บเราก็จะมีปฏิกริยาโต้ตอบทันที เช่นสะบัดมือหนี ร้องโอ๊ย เกิดความรู้สึกกลัว หรือความรู้สึกโกรธ


อวัยวะภายในร่างกายของเราก็ทำงานภายใต้การตอบสนองอารมณ์ด้วย เช่น เมื่อรู้สึกโกรธ หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ระบบหายใจจะถี่ขึ้นและสั้นลง ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายจะเกร็งตัว ซึ่งการตอบสนองแบบนี้เครื่องจักรทำไม่ได้


ทั้งผู้ฝึกชี่กง มวยจีน และการแพทย์จีนแผนโบราณเชื่อว่า อารมณ์ความรู้สึกของคนเรามีอิทธิพลต่อระบบชี่ในร่างกายอย่างมาก ดังนั้นการจะเรียนรู้เพื่อให้สามารถเข้าใจและรับรู้ถึงชี่ได้ เราต้องใช้“ความรู้สึก”แทนที่จะใช้“ความคิด”



2 ชี่หลักของชีวิต

การแพทย์จีนแผนโบราณและตำราทางชี่กง ถือว่าคนเรามีชี่หลักอยู่ 2 ประเภท คือ

1. “ชี่ดั้งเดิม” ภาษาจีนเรียกว่า 元气 (หยวนชี่) ในบางตำราก็เรียกว่า 先天气 (เซียนเทียนชี่ ) แปลว่าชี่ก่อนฟ้าหรือชี่ก่อนกำเนิด

“ชี่ดั้งเดิม”คือพลังชีวิตที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด คุณภาพของชี่ดั้งเดิมนี้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และชี่บรรพบุรุษของทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ ในชี่กงสายศาสนายังเชื่อว่าชี่ดั้งเดิมนี้ขึ้นอยู่กับบารมีทางจิตวิญญาณอีกด้วย
ชี่ดั้งเดิมนี้จะเป็นฐานบ่งชี้คุณภาพชีวิตและสุขภาพของเราไปตลอดชีวิต ศูนย์พลังของชี่ดั้งเดิมอยู่ที่บริเวณท้องน้อยที่เรียกว่า “ตันเถียนล่าง” : 下丹田 (เซี่ยตันเถียน) เกี่ยวข้องโดยตรงกับพลังจิง : 精 ซึ่งเป็นสารจำเป็นของชีวิต (เปรียบเทียบคร่าว ๆ ได้กับฮอร์โมน) ที่เก็บอยู่ในไตทั้ง 2 ข้าง ชี่ดั้งเดิมนี้เป็นชี่ฝ่ายเย็นหรือหยิน ถือว่าเป็น “ชี่น้ำ” : 水气 (สุ่ยชี่) ชี่หรือพลังชีวิตดั้งเดิมนี้ ไม่สามารถพัฒนาหรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นได้ มีแต่จะถูกใช้หมดไปเรื่อย ๆ ตามอายุ คนที่ใช้พลังชีวิตดั้งเดิมนี้อย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง ก็เท่ากับผลาญชี่ดั้งเดิมที่มีอยู่จำกัดให้หมดเร็วยิ่งขึ้น คนเราจะแก่และอ่อนแอลงไปตามการลดน้อยลงของชี่ดั้งเดิม วันใดที่ชี่ดั้งเดิมหมด ก็หมายความว่าพลังชีวิตเราหมดด้วย ซึ่งหมายถึงการสิ้นอายุขัยนั่นเอง ดังนั้นเป้าหมายของสุขภาพตามหลักการแพทย์จีนแผนโบราณก็คือ การออมและถนอมชี่ดั้งเดิมนี้ให้คงอยู่เท่าที่จะทำได้

2 “ชี่หลังกำเนิด” ภาษาจีนเรียกว่า 後天气 (โฮ่วเทียนชี่) ชี่ประเภทนี้เป็นชี่ที่เรารับเข้ามาจากภายนอก โดยได้รับจากอาหารและอากาศ ศูนย์พลังอยู่บริเวณหน้าอกที่เรียกว่า “ตันเถียนกลาง” : 中丹田 (จงตันเถียน) ชี่หลังกำเนิดนี้เป็นชี่ฝ่ายร้อนหรือหยาง ถือเป็นชี่ไฟ : 火气 (ฮั่วชี่)

คุณภาพของชี่หลังกำเนิดนี้ สามารถสร้างเสริมและชดเชยได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการตระหนักของคนแต่ละคนในการเลือกวิถีดำเนินชีวิต คำว่าวิถีดำเนินชีวิตในที่นี้ ตามหลักสุขภาพของการแพทย์จีนแผนโบราณ หมายถึงความเป็นองค์รวมทั้งหมด

อาหารจานหนึ่งเมื่อกินเข้าไป ไม่ได้ทำให้เพียงแค่อิ่มท้อง อร่อยปาก หรือทำให้ร่างกายมีกำลังเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความเป็นหยินและหยางของอวัยวะภายในด้วย การหายใจก็เช่นกัน วิธีการหายใจแต่ละแบบ เช่น หายใจสั้น หายใจถี่ หายใจลึก หายใจยาว ก็ส่งผลต่อความเป็นหยินเป็นหยางในร่างกายด้วยเช่นกัน และความเป็นหยินเป็นหยางนี้เองที่มีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์และความคิด

อุปนิสัย วิธีแสดงออกทางอารมณ์ ทัศนคติ และวิธีที่คนแต่ละคนมองโลกและตัดสินโลกนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่คน ๆ นั้นเป็นด้วยตัวเขาเอง หรือถูกบ่มให้เป็นจากการเลี้ยงดูเสียทั้งหมด แต่มันเป็นไปตามคุณภาพของ”ชี่”ที่คน ๆ นั้นได้รับจากวิถีการใช้ชีวิตที่เขาเลือก

“ชี่หลังกำเนิด”นี้จึงเป็นเหมือนหางเสือที่เราสามารถเลือกกำหนดทิศทางเองได้ เราอยากไปทางไหน เราก็เลือกวิถีนั้น ถ้าเราเลือกได้อย่างเหมาะสมและสมดุล อุปมาได้ว่าเราบริหารรายรับและรายจ่ายได้อย่างสมดุล ก็ไม่ต้องไปดึงเอาเงินที่เก็บออมไว้(ชี่ดั้งเดิม)ออกมาใช้ เงินออมก็ไม่ร่อยหลอ ชีวิตก็ไม่เดือดร้อน
ในทางตรงข้าม คนที่ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ทำงานหนัก เที่ยวหนัก พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย ไม่คำนึงถึงคุณภาพชี่จากอาหาร ไม่สนใจคุณภาพชี่จากอากาศ ก็เปรียบได้ว่าเขากำลังใช้ชี่อย่างล้างผลาญ รายรับมีน้อยกว่ารายจ่าย การรับและการบ่มเพาะชี่มีน้อยกว่าการผลาญชี่ ชีวิตเช่นนี้มีแต่ขาดทุนและติดลบลงทุกวัน ๆ เขาจะดึงเอาเงินออมหรือชี่ดั้งเดิมออกมาใช้ตลอดเวลา ในที่สุดวันหนึ่งทั้งชี่ดั้งเดิมที่เก็บออมไว้ก็หมด ชี่ใหม่ก็ไม่มีคุณภาพ ความแก่ชราก็จะมาเยือนเร็วกว่าคนทั่วไป ความเจ็บป่วยทั้งทางกาย ทางอารมณ์ และทางความคิดก็จะมีมากกว่าคนปกติ

เมื่อชี่อ่อนและขาดแคลน

หาก”ชี่ดั้งเดิม”อ่อนและขาดแคลน (เนื่องจากเกิดมาร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือเนื่องจากใช้พลังชีวิตเปลืองโดยไม่ดูแลถนอมชี่) จะทำให้การรับชี่จากภายนอก(ชี่หลังกำเนิด)ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนแรง ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี ระบบหายใจติดขัด ระบบย่อยและดูดซึมอาหารและระบบขับถ่ายผิดปกติ ธาตุทั้ง 5 ในร่างกายไม่สมดุล พลังจิงอ่อนแอ (ฮอร์โมนไม่สมดุล) ส่งผลให้อารมณ์และความคิดไม่สมดุลตามไปด้วย

หากชี่ “หลังกำเนิด” อ่อนและขาดแคลน (เนื่องจากไม่ใส่ใจกับโภชนาการ การหายใจ อากาศและสภาพแวดล้อม ละเลยการออกกำลังกาย) ร่างกายจะไปดึงเอา“ชี่ดั้งเดิม”มาใช้ ทำให้ร่างกายทรุดโทรมเร็ว แก่เร็ว เจ็บป่วยได้ง่าย และอายุสั้น

การแพทย์จีนแผนโบราณมีพื้นฐานมาจากปรัชญาเต๋าและคัมภีร์อี้จิง ซึ่งเชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องโยงใยถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ การจะมีสุขภาพที่ดี ต้องทำทั้ง 2 ทาง คือ
1. ถนอมชี่ดั้งเดิมไว้ และ
2. สร้างเสริมชี่หลังกำเนิดให้แข็งแรงและเพียงพออยู่เสมอ


อย่างไรก็ตาม ทั้งชี่ดั้งเดิมและชี่หลังกำเนิด ไม่ได้ต่างฝ่ายต่างอยู่อย่างแยกขาดจากกัน ชี่ทั้ง2 จะไหลเวียนมาประสานรวมกันเป็นชี่ที่มีประสิทธิภาพเรียกว่า “ชี่แท้” : 真气 (เจินชี่) และเก็บสะสมอยู่ในเส้นชี่พิเศษที่ชื่อว่า ตูม่าย : 督脈 แล้วจึงค่อย ๆ แจกจ่ายไปตามส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย 

(อ่านตอนที่ 3 คลิก)

………………………………..

ครูแม่ส้ม (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)
kroosom@gmail.com

ชี่กับพลังชีวิต ตอนที่ 1














(บทความและภาพประกอบโดย ครูแม่ส้ม (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)


ชี่คืออะไร

คนจีนเรียกพลังชีวิตว่า “ชี่” (
氣 : 气 ภาษาอังกฤษเขียนว่า Qi)
จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ขี่”
ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “ปราณ” (prana)
ส่วนคนญี่ปุ่นเรียกพลังชีวิตว่า “ กิ” (ki)
และในภาษากรีกเรียกว่า “ นูมา” (pneuma)

คำว่า
“ พลังชีวิต” นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ชีวิตของมนุษย์เรา หรือชีวิตของสัตว์ของพืชเท่านั้น แต่คำว่า “ชีวิต” ในนัยยะนี้ มองสรรพสิ่งในจักรวาลว่ามีชีวิตและมีชี่ของตัวเอง จักรวาลก็มีชีวิตของจักรวาล มีชี่ของจักรวาล ดวงดาวแต่ละดวงก็มีชีวิตและมีชี่ของตัวเอง มนุษย์ทุกคน สัตว์ทุกตัว ต้นไม้ทุกต้น ก้อนหิน แม่น้ำ ก้อนเมฆ แม้กระทั่งวัตถุสิ่งของ ทุกสิ่งทุกอย่างมีชีวิตและมีชี่ไหลเวียนอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น

ชี่เป็นพลังงานที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ชี่ของสิ่งหนึ่งจะแลกเปลี่ยนถ่ายโอนสลับที่กับชี่ของอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ด้วยตรรกะนี้เองที่คัมภีร์อี้จิง กล่าวว่า สรรพสิ่งในจักรวาลนี้ ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรไม่เชื่อมโยงกัน และไม่มีอะไรไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

คนส่วนมากบอกว่าชี่เป็น “ลม” ดังที่เราคุ้นกับคำว่า “ลมปราณ” นี่ก็ถูกในระดับหนึ่ง เพราะลมเป็นคุณสมบัติหนึ่งของชี่ แต่นอกจากลมหรืออากาศแล้ว ชี่ยังมีคุณสมบัติเป็นคลื่น เป็นพลังงานที่มองไม่เห็นอีกหลายรูป โยคะศาสตร์ของอินเดียและชี่กงของจีน เชื่อเหมือนกันว่าพลังทางร่างกาย พลังจิต และพลังความคิด ล้วนก่อเกิดจากพลังชี่หรือพลังปราณทั้งสิ้น

ดังนั้นหากต้องการให้ร่างกายแข็งแรง ก็ต้องทำชี่ให้แข็งแรง หากต้องการให้จิตใจเข้มแข็ง ก็ต้องปรับชี่ให้มีกำลัง และหากต้องการให้เกิดปัญญาทางความคิดก็ต้องบ่มเพาะให้ชี่ไปบำรุงสมองได้เต็มที่

นอกจากพลังทางกายภาพ พลังจิต และพลังความคิด จิตวิญญาณก็เป็นพลังชี่อีกรูปหนึ่งด้วย สิ่งมีชีวิตเมื่อตายลง ชี่ส่วนหนึ่งจะอ่อนแรงและแปรรูปไป แต่ชี่ไม่ได้สลายหรือสูญไปเหมือนกับร่างกายที่เน่าสลายหายไป ชี่ของชีวิตที่ตายลง จะเลื่อนไหลไปปะปนกับกระแสชี่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด จึงสามารถกล่าวได้ว่า วิญญาณคือรูปหนึ่งของชี่ และกระแสกรรมก็เป็นรูปหนึ่งของกระแสชี่เช่นกัน
 


พลังชี่ทั้ง ๓ (三才)

ในคัมภีร์อี้จิงเก่าแก่ของจีน กล่าวว่าคนเราสัมพันธ์กับชี่ ๓ ประเภท หรือ พลังทั้ง ๓ คือ
พลังชี่ของ
ฟ้า หรือ สวรรค์
พลังชี่ของ
ดิน หรือ ของโลก
และพลังชี่ของ
มนุษย์ 

 
๑. พลังชี่ของฟ้าหรือชี่สวรรค์ (天气)คือพลังธรรมชาติที่อยู่บนท้องฟ้าและในจักรวาล เช่น พลังจากดวงอาทิตย์ แรงดึงดูดจากดวงจันทร์และดวงดาว พลังงานที่เกิดจากลม พายุ สายฝน ก้อนเมฆ และอากาศทั้งหมด 


๒. พลังชี่ของดินหรือชี่ของโลก (地气)คือ พลังธรรมชาติที่อยู่บนโลก ทั้งบนดินและใต้ดิน ก้อนหิน ดินทราย สายน้ำ แร่ธาตุ ต้นไม้ และสัตว์ต่าง ๆ 

๓. พลังชี่ของมนุษย์ (人气)คือพลังชีวิตของคนเรา
 

แม้ว่าจะมีการแบ่งประเภทของชี่ออกเป็นพลัง ๓ ประเภท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชี่ของฟ้าจะแยกขาดจากชี่ของดิน หรือชี่ของมนุษย์จะไม่เกี่ยวข้องกับชี่ฟ้าและชี่ดิน ชี่ทั้ง ๓ มีความสัมพันธ์และทำปฏิกริยาต่อกันอย่างแยกกันไม่ขาด ชี่ของสิ่งหนึ่งสมดุล ชี่ของสิ่งอื่นก็ดีไปด้วย ชี่ของสิ่งหนึ่งไม่สมดุล ผลกระทบก็จะเกิดต่อชี่ของสิ่งอื่นด้วยเช่นกัน

เมื่อภาพรวมทั้งหมดปรากฏออกมาว่า ไม่มีชีวิตใดในจักรวาลนี้สามารถแยกขาดเป็นปัจเจกอย่างสมบูรณ์ โดยไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตอื่นเลย และไม่มีชี่ของสิ่งใดไม่เคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนกับชี่ของสิ่งอื่น ดังนั้นความสงบสุขและความมีสุขภาพดีของทุกชีวิตในจักรวาล จึงขึ้นอยู่กับความสมดุล ความผสมผสานกลมกลืน และการแลกเปลี่ยนกันอย่างพอดิบพอดี ระหว่างชี่ของตัวเองกับชี่ของสิ่งแวดล้อม เรียกว่า ชี่ภายใน(內气)กับ ชี่ภายนอก(外气)

ชี่ทุกชนิดพยายามรักษาและปรับสมดุลในตัวเองตามธรรมชาติ เช่น เมื่อใดที่ชี่สวรรค์เสียสมดุล ธรรมชาติจะปรับดุลด้วยปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อากาศและฤดูกาลแปรปรวน เมื่อใดที่ชี่ของดินหรือชี่โลกเสียสมดุล โลกก็จะปรับดุลด้วยการขยับตัว เกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม ชี่ของคนสัตว์ต้นไม้ก็เช่นกัน เมื่อใดเสียสมดุล ธรรมชาติก็ปรับด้วยการทำให้อ่อนแอเจ็บป่วยและตายไป เพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตอื่นได้ดำรงอยู่ หรือเพื่อให้ชี่ที่เสียสมดุลนั้น หมุนเวียนกลับมาเกิดเป็นวัฏจักรชีวิตใหม่ที่สมดุลขึ้นอีกรอบหนึ่ง

ชีวิตมนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งในปรากฏการณ์ปรับสมดุลของธรรมชาติ เมื่อใดที่ชี่ของฟ้าป่วย เราก็ป่วย เมื่อใดที่ชี่ของดินป่วย เราก็ป่วย และเมื่อใดที่ชี่ของสิ่งมีชีวิตอื่นป่วย เราก็ป่วยด้วย

เนื่องจากจักรวาลและโลกเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระแสชี่ของทุกสิ่งทุกอย่างยักย้ายถ่ายเท จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งตลอดเวลาด้วยเหมือนกัน ชี่ของสิ่งหนึ่งจะถูกดึงและถูกดูดจากชี่ของอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ตรงไหนหลวมหรือพร่อง ชี่อื่นก็จะไหลเข้ามาแทนที่ ตรงไหนแน่นหรือล้น ชี่ก็จะกระจายออกไปแทรกรวมกับชี่อื่น

หลักการนี้สามารถยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อไรที่ชี่ฝ่ายแข็งแรงภายในร่างกายของเราพร่องลง ก็จะถูกชี่เชื้อโรคแทรกเข้ามาแทนที่ เมื่อไรที่ชี่ในจิตใจเราอ่อนแอ ก็จะถูกชี่อารมณ์ของคนอื่นแทรกแซงได้ง่าย เมื่อไรที่ชี่ในสมองของเราพร่อง ปัญญาความคิดใหม่ ๆ ก็จะไม่เกิด ในคัมภีร์เต๋าโบราณของจีนระบุว่า หากชี่กายอ่อนแอ ชี่ของจิต (อารมณ์) ก็จะอ่อนแอด้วย เมื่อชี่จิตอ่อนแอ ก็ไม่สามารถส่งชี่ไปบำรุงปัญญา เมื่อชี่ปัญญาไม่มีเรี่ยวแรง จิตวิญญาณหรือเสิน ก็ไม่สามารถปฏิสนธิ เมื่อเป็นเช่นนี้ ดวงวิญญาณของคนนั้น ก็จะไม่ได้รับการขัดเกลาและพัฒนาให้สูงขึ้น
 


ฟังชี่

ตำราชี่กงโบราณของจีนบอกว่า เราสามารถประเมินสุขภาพของตัวเองได้ด้วยการฝึก
“ฟังชี่” การฟังชี่ในที่นี้ ไม่ใช่การฟังให้ได้ยินเสียง แต่เป็นการฟังผ่านการรับรู้ข้างใน หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการสังเกตตรวจสอบตัวเองอย่างละเอียดทั้งภายนอก(คือร่างกายและสิ่งแวดล้อม)และภายใน(คืออารมณ์และความคิด)นั่นเอง

ตัวอย่างการฟังชี่ เช่น นั่งนาน ๆ ขาเกิดชาหรือเมื่อยขึ้นมา อาการชาและปวดเมื่อยเป็นเพราะชี่ในร่างกายไม่หมุนเวียน ชี่จึงส่งสัญญาณมาบอกเราว่าถึงเวลาต้องลุกออกไปเดินยืดเส้นยืดสายให้ชี่ไหลเวียนเสียบ้างแล้ว
เมื่อเราอยู่ในห้องปรับอากาศนาน ๆ ถ้ารู้สึกอึดอัดหายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกว่าผิวหนัง ลำคอ หรือโพรงจมูกชักจะแห้ง แสดงว่าชี่ได้ส่งสัญญาณมาบอกเราว่า ขณะนี้ชี่ในห้องนี้ชักจะไม่ดีแล้ว ควรเดินออกไปนอกห้อง หาที่โล่ง ๆ ที่มีลมพัดผ่าน และมีต้นไม้ใบหญ้า เพื่อเราจะได้ปรับชี่ของตัวเราเข้ากับชี่ของฟ้าและดินเสียหน่อยค่อยกลับเข้ามาทำงานต่อ

ช่วงไหนที่เราหมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากเกินไปจนจิตใจห่อเหี่ยว เบื่อหน่าย เซ็ง หดหู่ซึมเศร้า อาการเหล่านี้เป็นเสียงของชี่ที่สื่อสารกับเราว่า ชี่ภายในของเรากำลังบกพร่อง อาจจะมีชี่บางอย่างมากไปหรือน้อยไปในตัวเรา เช่น ชี่หยินอาจมากไป ชี่หยางอาจน้อยไป ถึงเวลาที่เราควรออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนชี่กับชีวิตอื่น ๆ บ้าง

โดยทั่วไปหากจิตใจไม่นิ่งพอ เราจะแปลสัญญาณของชี่ไม่ออก เรียกว่าไม่ได้ยินเสียงชี่ และเมื่อไม่ได้ยิน เราก็จะถูกชี่ฝ่ายลบหรือชี่ก่อโรครุกรานและล่อลวง ที่ว่าล่อลวงก็เช่น เมื่อเรายิ่งอ่อนแอ เราก็จะยิ่งขี้เกียจออกกำลัง เมื่อเรายิ่งอ้วน เราก็ยิ่งหิวบ่อย เมื่อเรายิ่งหงุดหงิด เราก็ยิ่งมองหาเหยื่อให้ระบายโทสะ ยิ่งเราซึมเศร้า เราก็จะยิ่งเก็บตัวไม่อยากเจอหน้าใคร อาการที่หนักขึ้น ๆ ที่แท้ก็คือเสียงตระโกนของชี่ที่เราไม่ได้ยินนั่นเอง
 


ชี่กับชีวิตสมัยใหม่

วิถีชีวิตสมัยใหม่ ทำให้ผู้คนลืมความเชื่อมโยงระหว่างชี่ของตัวเองกับชี่ของจักรวาล (ชี่สวรรค์) และชี่ของโลก (ชี่ดิน) และลืมฟังชี่ หากลืมนาน ๆ เข้า ชี่ภายในของเราก็จะสึกหรอเสียสมดุล อาการป่วยกาย ป่วยใจ ป่วยปัญญา ก็จะปรากฏขึ้น

การดำรงความสมดุลที่ง่ายที่สุดสำหรับชีวิตสมัยใหม่ คือการจัดสรรเวลาให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับชี่ฟ้า ชี่ดิน และชี่ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างพอเหมาะพอดี รู้ได้อย่างไรว่าพอดี พอดีคือไม่ต้องพยายามมากจนเสียการเสียงาน ไม่ต้องพยายามมากจนกลายเป็นสร้างแบบแผนที่แข็งเกร็งให้ชีวิต ไม่พยายามมากไปจนเห็นคนอื่นด้อย และไม่ต้องพยายามมากไปจนเสียเงินเสียทอง

พูดง่าย ๆ ว่าในชีวิตประจำวัน แม้จะต้องทำงานประจำที่วุ่นวาย ในสถานที่ที่ไม่เป็นธรรมชาติ แต่เราก็สามารถรักษาชี่ให้สมดุลได้ ด้วยการหมั่นฝึกสังเกตตัวเอง ฝีกฟังชี่ตัวเอง อย่าปล่อยให้การงานหรือกิจกรรมสังคมรัดตัวเสียจนละเลยตัวเอง

การปรับสิ่งแวดล้อม ช่วยปรับชี่ภายในของเราให้สมดุลกับชี่ภายนอก ทำให้ชี่ในตัวเราประสานกับพลังชี่ทั้ง ๓ คือชี่ฟ้า ชี่ดิน และชี่มนุษย์อย่างพอดี ๆ และการฝึกสมาธิ จะช่วยให้เราฟังชี่และสื่อสารกับชี่ได้ว่องไวขึ้น
 



เขียนโดย
ครูแม่ส้ม - สมพร อมรรัตนเสรีกุล
kroosom@gmail.com

อ่านต่อ "ชี่กับพลังชีวิต ตอนที่ 2"