ชี่กับพลังชีวิต ตอนที่ 2



ชี่กับชีวิต ตอนที่  2
เขียนโดย : ครูแม่ส้ม (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)

ลมเลือด : เลือดลม

ตำราการแพทย์จีนแผนโบราณระบุว่า“ชี่”กับ“เลือด”มีความสัมพันธ์กัน บริเวณไหนที่ชี่ไหลไปถึง เลือดก็จะไหลไปถึงด้วยเสมอ บริเวณไหนที่ชี่ไหลเวียนสะดวก เลือดก็จะไหลเวียนสะดวกด้วยเช่นกัน จึงมีคำเรียกกันติดปากในภาษาจีนว่า“ลมเลือด” หรือ 气血 (ชี่เซ่ว) ซึ่งคนไทยคุ้นที่จะเรียกว่า“เลือดลม”มากกว่า


“ลม”ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่อากาศหรือก๊าซที่เป็นส่วนหนึ่งของเม็ดเลือดเท่านั้น แต่หมายถึงลมในฐานะที่เป็น“ชี่”หรือ“พลังชีวิต”ด้วย ดังที่เราจะได้ยินเวลาผู้ใหญ่(รุ่นเก่า)มีอาการไม่สบายเนื้อสบายตัวขึ้นมา มักจะเปรยว่า “หมู่นี้เลือดลมไม่ค่อยดีเลย” ซึ่งหมายความว่าการไหลเวียนของชี่และระบบไหลเวียนโลหิตภายในร่างกายชักจะติดขัดแล้ว เป็นผลให้อวัยวะภายใน เช่น ไต ตับ หัวใจ ม้าม ปอด กระเพาะ ลำไส้ และระบบการทำงานส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ระบบการหายใจ ระบบย่อยและดูดซึมอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบขับถ่าย ไปถึงระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ก็พลอยบกพร่องไปด้วย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วย และติดเชื้อโรคได้ง่าย เมื่อร่างกายอ่อนแอ จิตใจก็จะอ่อนแอตาม ความคิดก็ติดขัดไปด้วยเช่นกัน พูดรวม ๆ ก็คือ พลังชีวิตในช่วงนั้นอ่อนนั่นเอง

คุณภาพของพลังชีวิตได้มาจากไหน

“คุณภาพของพลังชีวิต” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “คุณภาพของชี่” ได้มาจากคุณภาพของอากาศและนิสัย(วิธี)การหายใจของเรา คุณภาพของอาหารที่เรากินเข้าไป ท่าทางหรือวิธีเคลื่อนไหวร่างกายของเรา อุปนิสัยใจคอหรืออารมณ์ที่เราแสดงออก ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตทั้งหมด ล้วนเกี่ยวข้องกับคุณภาพของชี่ทั้งสิ้น

ถ้าจะเปรียบอย่างหยาบ ๆ ว่าร่างกายเป็นเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง อาหารและอากาศ ก็เปรียบได้กับน้ำมันหรือเชื้อเพลิง วิถีการดำเนินชีวิต เปรียบได้กับกระบวนการเดินเครื่องจักร ส่วนบุคลิกนิสัย ก็เปรียบเหมือนวิธีบริหารจัดการเครื่องจักรให้ทำงาน หากบริหารดีเครื่องจักรก็ทำงานดี หากระบบบริหารจัดการไม่ดี ผลผลิตก็คงจะดีได้ยาก


แต่ในระดับละเอียด ร่างกายเป็นมากกว่าเครื่องจักรเครื่องยนต์ มนุษย์มีอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อน ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบชี่อย่างมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อเราถูกหยิก ชี่ในบริเวณผิวที่ถูกหยิกจะถูกรบกวน ชี่ที่ถูกรบกวนจะส่งข้อมูลไปกับระบบประสาท ทำให้เกิดการรับรู้ความเจ็บ เมื่อรู้สึกเจ็บเราก็จะมีปฏิกริยาโต้ตอบทันที เช่นสะบัดมือหนี ร้องโอ๊ย เกิดความรู้สึกกลัว หรือความรู้สึกโกรธ


อวัยวะภายในร่างกายของเราก็ทำงานภายใต้การตอบสนองอารมณ์ด้วย เช่น เมื่อรู้สึกโกรธ หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ระบบหายใจจะถี่ขึ้นและสั้นลง ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายจะเกร็งตัว ซึ่งการตอบสนองแบบนี้เครื่องจักรทำไม่ได้


ทั้งผู้ฝึกชี่กง มวยจีน และการแพทย์จีนแผนโบราณเชื่อว่า อารมณ์ความรู้สึกของคนเรามีอิทธิพลต่อระบบชี่ในร่างกายอย่างมาก ดังนั้นการจะเรียนรู้เพื่อให้สามารถเข้าใจและรับรู้ถึงชี่ได้ เราต้องใช้“ความรู้สึก”แทนที่จะใช้“ความคิด”



2 ชี่หลักของชีวิต

การแพทย์จีนแผนโบราณและตำราทางชี่กง ถือว่าคนเรามีชี่หลักอยู่ 2 ประเภท คือ

1. “ชี่ดั้งเดิม” ภาษาจีนเรียกว่า 元气 (หยวนชี่) ในบางตำราก็เรียกว่า 先天气 (เซียนเทียนชี่ ) แปลว่าชี่ก่อนฟ้าหรือชี่ก่อนกำเนิด

“ชี่ดั้งเดิม”คือพลังชีวิตที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด คุณภาพของชี่ดั้งเดิมนี้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และชี่บรรพบุรุษของทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ ในชี่กงสายศาสนายังเชื่อว่าชี่ดั้งเดิมนี้ขึ้นอยู่กับบารมีทางจิตวิญญาณอีกด้วย
ชี่ดั้งเดิมนี้จะเป็นฐานบ่งชี้คุณภาพชีวิตและสุขภาพของเราไปตลอดชีวิต ศูนย์พลังของชี่ดั้งเดิมอยู่ที่บริเวณท้องน้อยที่เรียกว่า “ตันเถียนล่าง” : 下丹田 (เซี่ยตันเถียน) เกี่ยวข้องโดยตรงกับพลังจิง : 精 ซึ่งเป็นสารจำเป็นของชีวิต (เปรียบเทียบคร่าว ๆ ได้กับฮอร์โมน) ที่เก็บอยู่ในไตทั้ง 2 ข้าง ชี่ดั้งเดิมนี้เป็นชี่ฝ่ายเย็นหรือหยิน ถือว่าเป็น “ชี่น้ำ” : 水气 (สุ่ยชี่) ชี่หรือพลังชีวิตดั้งเดิมนี้ ไม่สามารถพัฒนาหรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นได้ มีแต่จะถูกใช้หมดไปเรื่อย ๆ ตามอายุ คนที่ใช้พลังชีวิตดั้งเดิมนี้อย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง ก็เท่ากับผลาญชี่ดั้งเดิมที่มีอยู่จำกัดให้หมดเร็วยิ่งขึ้น คนเราจะแก่และอ่อนแอลงไปตามการลดน้อยลงของชี่ดั้งเดิม วันใดที่ชี่ดั้งเดิมหมด ก็หมายความว่าพลังชีวิตเราหมดด้วย ซึ่งหมายถึงการสิ้นอายุขัยนั่นเอง ดังนั้นเป้าหมายของสุขภาพตามหลักการแพทย์จีนแผนโบราณก็คือ การออมและถนอมชี่ดั้งเดิมนี้ให้คงอยู่เท่าที่จะทำได้

2 “ชี่หลังกำเนิด” ภาษาจีนเรียกว่า 後天气 (โฮ่วเทียนชี่) ชี่ประเภทนี้เป็นชี่ที่เรารับเข้ามาจากภายนอก โดยได้รับจากอาหารและอากาศ ศูนย์พลังอยู่บริเวณหน้าอกที่เรียกว่า “ตันเถียนกลาง” : 中丹田 (จงตันเถียน) ชี่หลังกำเนิดนี้เป็นชี่ฝ่ายร้อนหรือหยาง ถือเป็นชี่ไฟ : 火气 (ฮั่วชี่)

คุณภาพของชี่หลังกำเนิดนี้ สามารถสร้างเสริมและชดเชยได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการตระหนักของคนแต่ละคนในการเลือกวิถีดำเนินชีวิต คำว่าวิถีดำเนินชีวิตในที่นี้ ตามหลักสุขภาพของการแพทย์จีนแผนโบราณ หมายถึงความเป็นองค์รวมทั้งหมด

อาหารจานหนึ่งเมื่อกินเข้าไป ไม่ได้ทำให้เพียงแค่อิ่มท้อง อร่อยปาก หรือทำให้ร่างกายมีกำลังเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความเป็นหยินและหยางของอวัยวะภายในด้วย การหายใจก็เช่นกัน วิธีการหายใจแต่ละแบบ เช่น หายใจสั้น หายใจถี่ หายใจลึก หายใจยาว ก็ส่งผลต่อความเป็นหยินเป็นหยางในร่างกายด้วยเช่นกัน และความเป็นหยินเป็นหยางนี้เองที่มีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์และความคิด

อุปนิสัย วิธีแสดงออกทางอารมณ์ ทัศนคติ และวิธีที่คนแต่ละคนมองโลกและตัดสินโลกนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่คน ๆ นั้นเป็นด้วยตัวเขาเอง หรือถูกบ่มให้เป็นจากการเลี้ยงดูเสียทั้งหมด แต่มันเป็นไปตามคุณภาพของ”ชี่”ที่คน ๆ นั้นได้รับจากวิถีการใช้ชีวิตที่เขาเลือก

“ชี่หลังกำเนิด”นี้จึงเป็นเหมือนหางเสือที่เราสามารถเลือกกำหนดทิศทางเองได้ เราอยากไปทางไหน เราก็เลือกวิถีนั้น ถ้าเราเลือกได้อย่างเหมาะสมและสมดุล อุปมาได้ว่าเราบริหารรายรับและรายจ่ายได้อย่างสมดุล ก็ไม่ต้องไปดึงเอาเงินที่เก็บออมไว้(ชี่ดั้งเดิม)ออกมาใช้ เงินออมก็ไม่ร่อยหลอ ชีวิตก็ไม่เดือดร้อน
ในทางตรงข้าม คนที่ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ทำงานหนัก เที่ยวหนัก พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย ไม่คำนึงถึงคุณภาพชี่จากอาหาร ไม่สนใจคุณภาพชี่จากอากาศ ก็เปรียบได้ว่าเขากำลังใช้ชี่อย่างล้างผลาญ รายรับมีน้อยกว่ารายจ่าย การรับและการบ่มเพาะชี่มีน้อยกว่าการผลาญชี่ ชีวิตเช่นนี้มีแต่ขาดทุนและติดลบลงทุกวัน ๆ เขาจะดึงเอาเงินออมหรือชี่ดั้งเดิมออกมาใช้ตลอดเวลา ในที่สุดวันหนึ่งทั้งชี่ดั้งเดิมที่เก็บออมไว้ก็หมด ชี่ใหม่ก็ไม่มีคุณภาพ ความแก่ชราก็จะมาเยือนเร็วกว่าคนทั่วไป ความเจ็บป่วยทั้งทางกาย ทางอารมณ์ และทางความคิดก็จะมีมากกว่าคนปกติ

เมื่อชี่อ่อนและขาดแคลน

หาก”ชี่ดั้งเดิม”อ่อนและขาดแคลน (เนื่องจากเกิดมาร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือเนื่องจากใช้พลังชีวิตเปลืองโดยไม่ดูแลถนอมชี่) จะทำให้การรับชี่จากภายนอก(ชี่หลังกำเนิด)ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนแรง ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี ระบบหายใจติดขัด ระบบย่อยและดูดซึมอาหารและระบบขับถ่ายผิดปกติ ธาตุทั้ง 5 ในร่างกายไม่สมดุล พลังจิงอ่อนแอ (ฮอร์โมนไม่สมดุล) ส่งผลให้อารมณ์และความคิดไม่สมดุลตามไปด้วย

หากชี่ “หลังกำเนิด” อ่อนและขาดแคลน (เนื่องจากไม่ใส่ใจกับโภชนาการ การหายใจ อากาศและสภาพแวดล้อม ละเลยการออกกำลังกาย) ร่างกายจะไปดึงเอา“ชี่ดั้งเดิม”มาใช้ ทำให้ร่างกายทรุดโทรมเร็ว แก่เร็ว เจ็บป่วยได้ง่าย และอายุสั้น

การแพทย์จีนแผนโบราณมีพื้นฐานมาจากปรัชญาเต๋าและคัมภีร์อี้จิง ซึ่งเชื่อว่าสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องโยงใยถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ การจะมีสุขภาพที่ดี ต้องทำทั้ง 2 ทาง คือ
1. ถนอมชี่ดั้งเดิมไว้ และ
2. สร้างเสริมชี่หลังกำเนิดให้แข็งแรงและเพียงพออยู่เสมอ


อย่างไรก็ตาม ทั้งชี่ดั้งเดิมและชี่หลังกำเนิด ไม่ได้ต่างฝ่ายต่างอยู่อย่างแยกขาดจากกัน ชี่ทั้ง2 จะไหลเวียนมาประสานรวมกันเป็นชี่ที่มีประสิทธิภาพเรียกว่า “ชี่แท้” : 真气 (เจินชี่) และเก็บสะสมอยู่ในเส้นชี่พิเศษที่ชื่อว่า ตูม่าย : 督脈 แล้วจึงค่อย ๆ แจกจ่ายไปตามส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย 

(อ่านตอนที่ 3 คลิก)

………………………………..

ครูแม่ส้ม (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)
kroosom@gmail.com