ชี่กับพลังชีวิต ตอนที่ 3


เขียนและเรียบเรียงโดย ครูแม่ส้ม (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)

ชี่ไม่ใช่แค่ลม


คำว่า“ชี่”แม้จะแปลว่า“ลม”   แต่ก็ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่”ลม”หรือ”อากาศ”เท่านั้น    ”ชี่”มีความหมายกว้าง  ซึ่งครอบคลุมทุก ๆ พื้นที่ของชีวิตและจักรวาลเลยทีเดียว


“วัตถุและสิ่งไม่มีชีวิตมีชี่หรือไม่”  การแพทย์จีนโบราณตอบว่า “มี”  ชี่ของวัตถุมีลักษณะแตกต่างกับชี่ของสิ่งมีชีวิตตรงที่  ชี่ของวัตถุมีความหนัก ขุ่นมัว และมีพลังการขับเคลื่อนเลื่อนไหลต่ำ  ส่วนชี่ของสิ่งมีชีวิต มีคุณสมบัติเบา สว่าง โปร่ง และมีพลังการขับเคลื่อนไหลเวียนมากกว่า
   
เทียบเคียงกับทางวิทยาศาสตร์   ชี่คือพลังของที่ว่างระหว่างอนุภาค  เป็นพลังที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา  การไหลเลื่อนเคลื่อนที่ของชี่   นอกจากจะไหลเวียนระหว่างอนุภาคภายในสสารนั้นเองแล้ว  ยังไหลเลื่อนแลกเปลี่ยนกับชี่ของสสารอื่นอีกด้วย   แต่เนื่องจากพลังชี่ของวัตถุมีความหนัก   การแลกเปลี่ยนชี่ระหว่างวัตถุต่อวัตถุจึงน้อยกว่าระหว่างสิ่งมีชีวิตกับวัตถุ  และสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตด้วยกัน   ตัวอย่างเช่น   เก้าอี้ตัวที่ตั้งโชว์อยู่ในร้านเฟอร์นิเจอร์เฉย ๆ  ย่อมมีชี่น้อยกว่าเก้าอี้ตัวที่ถูกใช้งานแล้ว    บ้านร้างย่อมมีพลังชี่หนักและขุ่นมัวกว่าบ้านที่มีคนอยู่อาศัย   และบ้านที่สมาชิกในบ้านมีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ย่อมจะมีพลังชี่ที่โปร่งเบาสว่างและไหลเลื่อนได้คล่องกว่าบ้านที่สมาชิกในบ้านเจ็บป่วยและเครียด    ด้วยตรรกะของการแลกเปลี่ยนถ่ายเทชี่เช่นนี้ เครื่องรางของขลังหรือน้ำมนต์จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  หากได้รับการส่งผ่านชี่จากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีชี่แข็งแรงทรงพลังเพียงพอ   


"
ชี่"มีทั้งบวกและลบ
 

ชี่คือพลังชีวิต หรือจะเรียกให้ครอบคลุมก็พูดได้ว่า ชี่คือพลังจักรวาล  สิ่งมีชีวิตยังชีพอยู่ได้เพราะพลังขับเคลื่อนและไหลเวียนของชี่   ทั้งที่ไหลเวียนภายในตัวเอง และไหลเวียนแลกเปลี่ยนกับชี่ภายนอก  อันประกอบด้วย ชี่จากพลังงานธรรมชาติ  และชี่จากสิ่งมีชีวิตอื่น ทั้งที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน  สัตว์ต่าง ๆ  และพืช     

แม้จะพูดว่าชี่เป็นพลังที่สำคัญต่อชีวิต  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชี่ที่ไหลเวียนอยู่รอบตัวเราเป็นชี่ที่เข้ากับเราได้เสมอไปหรือเป็นชี่ที่มีคุณประโยชน์ทั้งหมด    พลังชี่มีลักษณะทั้งที่เป็นบวกและลบต่อกันและกัน   หากจะพูดให้เหมาะสมและยุติธรรม  เราคงไม่พูดว่าโลกนี้มีชี่ดีและชี่เลว  แต่ควรพูดว่ารอบตัวเรามีชี่ที่เข้ากับเราได้ และชี่ที่เข้ากับเราไม่ได้จะดีกว่า 

หากแบ่งชีวิตของเราออกเป็น  3 ภาคตามศาสตร์ชี่กง ได้แก่  ภาคร่างกาย  ภาคอารมณ์จิตใจ  และภาคจิตวิญญาณ   ชี่ที่เข้ากับเราไม่ได้ทางกาย  คือชี่ที่เราเรียกว่าเชื้อโรคและมลภาวะต่าง ๆ    ชี่ที่เข้ากับเราไม่ได้ทางจิตใจ   คือชี่อารมณ์ด้านลบทั้งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง  และที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก   ส่วนชี่ที่เข้ากับเราไม่ได้ทางจิตวิญญาณ หรือชี่ที่สกัดกั้นการเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณ  ก็คือพลังความคิดด้านลบและความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฐิ

ผลกระทบที่เลี่ยงไม่ได้
 

ชี่ของชีวิตทั้ง 3 ภาค  ร่างกาย  จิตใจ และจิตวิญญาณ  มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกันและกันตลอดเวลา  ส่วนหนึ่งถูกกระทบ  อีกส่วนก็แสดงผล  เมื่อกายถูกกระทบ  ไม่ใช่เพียงร่างกายเท่านั้นที่แสดงผล  แต่จิตใจและจิตวิญญาณก็ถูกกระทบและแสดงผลให้ประจักษ์ด้วย   

ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น  ถ้าเราดื่มน้ำสะอาดไม่เพียงพอ   หรือนั่งทำงานนานเกินไป (ลำตัวส่วนล่างไม่ได้เคลื่อนไหว)  พฤติกรรมเล็กน้อยในชีวิตประจำวันที่ดูไม่น่าจะสำคัญอะไรมากเลยเช่นนี้   ก็สามารถก่อให้เกิดผลต่อไตได้   เพราะการดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น   เมื่อไตทำงานหนัก ชี่ที่ไตก็ลดจำนวนลง  เมื่อชี่ไตพร่อง  ไตจะไปดึงชี่จากอวัยวะอื่นที่ใกล้เคียง  ทำให้ชี่ของอวัยวะอื่นลดลงไปด้วยอย่างเป็นลูกโซ่  


และการนั่งในท่าเดิมนานเกินไป  กล้ามเนื้อและอวัยวะบริเวณท้องน้อยไม่ถูกเคลื่อนไหว  ทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดไม่คล่อง   เมื่อชี่ไตไหลเวียนไม่สะดวก  จะเกิดภาวะชี่ติดขัด   ชี่ใหม่ไม่ถูกส่งไปชำระชี่เก่า  ไตจะอ่อนแอ  เมื่อไตอ่อนแอ กระบวนการสร้างสารจำเป็น (คนจีนเรียกว่าจิง : 精)ก็บกพร่อง  สารจำเป็นหรือ”จิง”นี้ เทียบได้กับฮอร์โมน  เป็นสารสร้างไขกระดูกเพื่อไปหล่อเลี้ยงซ่อมเสริมกระดูก  เมื่อไตผลิตสารจำเป็นหรือ”จิง”ได้น้อย  จึงส่งผลให้กระดูกและฟันไม่แข็งแรง  ในผู้สูงอายุกระดูกจะเปราะบางหักง่าย  ฟันโยกหลุดร่วงเร็ว  


และเนื่องจากเส้นชี่ของไตเชื่อมกับประสาทหู  ถ้าชี่ไตพร่อง  อวัยวะในช่องหูจะอ่อนแอตามไปด้วย  ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวตามมา   


นอกจากนี้ไตยังมีปฏิสัมพันธ์กับอารมณ์กลัว  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ ๒ ทาง  ทางหนึ่งเริ่มจากร่างกายไปสู่จิตใจ  เมื่อชี่ไตพร่อง  จะส่งผลให้อารมณ์ไม่มั่นคง  เกิดความวิตกหวาดกลัวง่าย บางครั้งวิตกหวาดกลัวแม้ในเรื่องเล็ก ๆ หรือกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง  


ในทางกลับกัน  เริ่มจากจิตใจส่งผลสู่ร่างกาย  เมื่อมีเรื่องกระทบอารมณ์ให้เกิดความวิตกหวาดกลัวขึ้นมา  ชี่ไตจะถูกผลาญอย่างรวดเร็ว  ทำให้เกิดภาวะชี่ไตพร่อง  เมื่อไตอ่อนแอ ร่างกายส่วนอื่นก็ถูกกระทบไปเป็นลูกโซ่ด้วย  


ศาสตร์ชี่กงโบราณของจีนถือว่าไตสัมพันธ์กับจุดมิ่งเหมิน  จุดมิ่งเหมินนี้ตั้งอยู่ระหว่างไตทั้ง ๒ ข้าง  คำว่า“มิ่งเหมิน” แปลว่า “ประตูแห่งชีวิต”  เป็นจุดศูนย์รวมของชี่อิน(หยิน)และชี่หยาง  ควบคุมการทำงานของอวัยวะหลายส่วน เช่น หัวใจ ไต ม้าม กระเพราะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น 


ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า  แม้เพียงพฤติกรรมเล็ก ๆ ซึ่งผิดเพี้ยนไปจากความเป็นปกติตามธรรมชาติ  เช่นดื่มน้ำน้อยเพราะไม่มีเวลา  เพราะลืม  หรือเพราะไม่อยากเข้าห้องน้ำบ่อย   นั่งทำงานนานเพราะต้องการให้ได้งานมาก ๆ หรือนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เพลินจนลืมเวลา   พฤติกรรมประเภทนี้มักเกิดขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน  โดยเฉพาะคนทำงานสมัยใหม่   ความเคยชินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถูกละเลยเหล่านี้   สามารถส่งผลกระทบต่อประตูชีวิต(มิ่งเหมิน)ทั้งชีวิตได้เหมือนกัน


แต่ใช่ว่าคนสองคนซึ่งดื่มน้ำน้อยหรือนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ จะได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน    ดังที่เราต่างรู้กันอยู่แล้วว่า ความแข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยหลักในการต้านทานโรค   แต่ก็นั่นละ  บ่อยครั้งที่คนซึ่งมีร่างกายแข็งแรงแต่เคร่งเครียด  กลับเจ็บป่วยหรือติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าคนที่ดูบอบบางแต่ยิ้มแย้มแจ่มใส   คนที่ใส่ใจเรื่องโภชนาการอย่างเคร่งครัดแต่ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการหายใจ  ก็อาจจะอ่อนแอกว่าชาวชนบทที่ไม่มีความรู้เรื่องโภชนาการแต่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย
 

สุขภาพดีต้องมี "5 ประสาน"
 

ในตำราชี่กงจีนโบราณได้กล่าวถึงกระบวนการพื้นฐาน 5 ประการ  ในการเข้าถึงความมีสุขภาพดีอย่างเป็นองค์รวม เรียกว่า  “ 5 ประสาน”  ตามแนวปรัชญาจีนโบราณ 5 ประสานนี้หมายถึงการที่ส่วนประกอบของชีวิตทั้ง 5 ส่วนสามารถประสานสอดคล้องกันและกันได้อย่างสมบูรณ์

มีอะไรบ้างที่ต้องประสานให้เข้ากันอย่างสมบูรณ์   5 ประการ
1. ร่างกาย

2. ลมหายใจ   
3. จิตอารมณ์
4. พลังชีวิต(ชี่)     
5. จิตวิญญาณ   

เจรจากับสหายทั้ง 5


ในความหมายของการปรัชญาจีนโบราณเกี่ยวกับสุขภาพองค์รวมจะเน้นที่การ"สื่อสาร"กับองค์ประกอบชีวิตทั้ง 5 ส่วนนี้ให้เข้าใจ จึงมีคำกล่าวว่า
“จงเจรจากับร่างกาย 
พูดคุยกับลมหายใจ 
สนทนากับจิต  
ฟังเสียงของชี่ 
และสื่อสารกับจิตวิญญาณ 
ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง   
จนสหายทั้ง 5 สามารถเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง”
  
ผู้ฝึกชี่กงและไท่จี๋ย่อมเข้าใจประเด็นนี้ดี   การจะสื่อสารกับสหายทั้ง 5  ดังว่านี้ได้  ต้องอาศัยการรับรู้ที่ว่องไว  ตื่นตัวแต่ผ่อนคลาย    แต่จะมีการรับรู้ที่ว่องไว ตื่นตัวแต่ผ่อนคลายได้  ต้องอาศัยสติและสมาธิ  อันเป็นเครื่องมือสื่อสารภายในที่สำคัญที่สุด   


ดังนั้นการฝึกชี่กงและมวยจีน(ไท่จี๋)จึงเน้นการดำรงสติและสมาธิไว้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรับรู้และสื่อสารกับร่างกาย กับลมหายใจ กับอารมณ์ความรู้สึก กับการเคลื่อนไหวของชี่ และในระดับสูงกับสภาวะทางปัญญา(ซึ่งไม่ใช่ความคิด)


ความเป็นองค์รวมในทัศนะทางชี่กงนี้  สามารถตอบคำถามที่ว่า เหตุใดคนแต่ละคนจึงมีความต้านทานต่อโรคทางกาย โรคทางอารมณ์  โรคทางสังคม และโรคทางปัญญาในระดับที่แตกต่างกัน และแม้แต่ความเจ็บป่วยในตัวเราเอง  บางครั้งก็ไม่สามารถโทษเชื้อโรคจากภายนอกหรือพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปได้  เช่น เรามักโทษว่าคนนั้นคนนี้นำเชื้อหวัดมาแพร่ใส่เรา  เราจึงเป็นหวัด  หรือเพราะไปเดินตากฝน เราจึงเป็นไข้  หรือเพราะกินส้มตำจานนั้นแน่เทียว ท้องเราจึงเสีย  การวิเคราะห์เช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการโยนความผิดไปให้ผู้อื่น  

การโทษเหตุจากภายนอกอย่างเดียว จะไม่มีทางเยียวยารักษาหรือทำให้สุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืนขึ้นมาได้  หากไม่พิจารณาถึงความโกรธ  ความเศร้า ความกลัว และแม้แต่ความสนุกสุดเหวี่ยงในจิตใจของเรา   ไม่สังเกตดูวิธีหายใจของตัวเอง  หายใจลึกเพียงพอไหม หรือชอบกลั้นหายใจ  หายใจสั้น หายใจถี่รัว   หรือขี้เกียจหายใจบ่อย ๆ หรือเปล่า   ไปจนถึงการรู้เท่าทันต่อความเชื่อและความศรัทธาหรือสิ่งยึดเหนี่ยวต่างๆว่าได้นำความสงบและสันติสุขมาสู่ตัวเราจริงหรือเปล่า หรือกลับนำความเกลียดชัง การแบ่งแยก และความรุนแรงมาสู่จิตใจของเรา

การพิจารณาเพื่อให้รู้เท่าทันความเป็นไปของสหายทั้ง 5 นี้  เรียกว่า “กังฟูแห่งการเฝ้าสังเกตภายใน” 
  

.....................

ติดตามอ่านตอนที่ 4